พิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 31
มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 31 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2568 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก มูลนิธิฯ ได้รับเกียรติจาก
ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานในพิธี ซึ่งนับเป็นเวลา 15 ปีที่ท่านได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ฯพณฯ นายมาซาโตะ โอตากะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิฯ และนายอาคิฮิโระ นิคคาคุ ประธานกรรมการ บริษัท โทเรอินดัสตรีส์ อิงค์ (ประเทศญี่ปุ่น) เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย
![]() |
ด้วยเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและก้าวหน้าของประเทศไทย มูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการมอบรางวัล 3 ประเภท ดังนี้
![]() |
รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับบุคคลหรือสถาบันที่มีผลงานดีเด่นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในปีนี้ รางวัลประเภทบุคคลมอบให้ ศาสตราจารย์ ดร. ปรเมษฐ์ มนูญพงศ์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันวิทยสิริเมธี สำหรับผู้ได้รับรางวัลในประเภทหน่วยงานมอบให้กับศูนย์วิจัยระบบอัตโนมัติในโรงพยาบาล (Hospital Automation Research Center หรือ HAC@FIBO) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุภชัย วงศ์บุญย์ยง เป็นผู้แทนหน่วยงาน รวม 2 รางวัล มูลค่า 8 แสนบาท
![]() |
เงินทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนักวิจัยที่กำลังค้นคว้า หรือมีโครงการค้นคว้าวิจัยที่เป็นรากฐานอันจะอำนวยประโยชน์ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย ในปีนี้ได้มอบทุนวิจัยจำนวน 20 ทุนวิจัย รวมมูลค่า 4 ล้านบาท แบ่งเป็น สาขาเกษตรศาสตร์ 7 โครงการ สาขาเคมี 6 โครงการ สาขาวิศวกรรมศาสตร์ 5 โครงการ และสาขาฟิสิกส์ 2 โครงการ
![]() |
รางวัลการศึกษาวิทยาศาสตร์ เป็นการมอบรางวัลให้กับครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาที่มีผลงานดีเด่นและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ ในปีนี้ได้มอบรางวัลจำนวน 6 รางวัล มูลค่า 540,000 บาท แบ่งเป็นเงินรางวัลสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 240,000 บาท ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 300,000 บาท นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ได้มอบเงินทุนสนับสนุนห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ให้แต่ละโรงเรียนที่ได้รับรางวัลรวม 150,000 บาท
ในปีนี้ มูลนิธิฯ ได้มอบรางวัลและทุนฯ รวมเป็นจำนวน 5.49 ล้านบาท และในช่วง 31 ปีของการดำเนินงาน มูลนิธิฯ มอบรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมทั้งสิ้น 63 ราย ทุนช่วยเหลือการวิจัย 568 โครงการ และมอบรางวัลให้ครูวิทยาศาสตร์รวมทั้งสิ้น 264 ราย รวมเป็นมูลค่ากว่า 162 ล้านบาท
![]() |
ตัวแทนผู้รับรางวัล ศ.ดร. ปรเมษฐ์ มนูญพงศ์ กล่าวแสดงความขอบคุณมูลนิธิโทเรฯ ที่ให้ความสำคัญกับบุคลากรการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 31 ปี “รางวัลและทุนโทเร” เป็นรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยที่วงการนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทราบกันเป็นอย่างดีว่าได้ผ่านการคัดกรองและคัดสรรมาอย่างดีเยี่ยม ผู้ที่ได้รับรางวัลหรือผู้ที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยจากมูลนิธิโทเรสามารถเชื่อมั่นได้ว่ามีคุณสมบัติและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ ควรค่าต่อความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง รางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยนี้นอกจากจะทำให้นักวิจัยมีขวัญและกำลังใจ มีแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพแล้ว ยังได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างครอบคลุมตั้งแต่นักวิจัยที่เป็นครู-อาจารย์ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน และอาจารย์/นักวิจัยในระดับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยอีกด้วย
![]() |
ศาสตราจารย์ ดร. กอบวุฒิ รุจิจนากุล และ รศ. ชำนาญ ราญฎร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอผลงานที่ร่วมกันออกแบบและผลิตวัสดุที่มีรูพรุนจากไฮดรอกซีอะพาไทต์ที่มีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์และสมบัติเชิงกลสูง เพื่อลดปัญหาการติดเชื้อหลังการผ่าตัดกระดูก และส่งเสริมการสร้างเซลล์กระดูกใหม่ โดยมีการเคลือบวัสดุด้วยสารต้านเชื้อที่มาจากวัสดุธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้งาน โดยทีมวิจัยยังได้พัฒนา วัสดุผสมไฮดรอกซีอะพาไทต์ ไฮโดรเจน และคอลลาเจน ซึ่งเหมาะสมในการใช้งานทางการแพทย์และสามารถปรับขนาดความพรุนได้ตามต้องการ ผลงานนี้จะส่งผลดีในการพัฒนาวัสดุเพื่อการปลูกถ่ายกระดูกในอนาคต และเป็นการพัฒนานวัตกรรมที่ส่งเสริมชื่อเสียงของประเทศและสร้างคุณค่าให้กับวงการแพทย์
อาจารย์เกียรติศักดิ์ อินราษฎร โรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง การลดการปนเปื้อนของแผ่นใยไหม ผ่านการควบคุมพฤติกรรมการขับถ่ายของหนอนไหม ได้รับรางวัลการศึกษาวิทยาศาสตร์ งานวิจัยนี้มาจากแรงบันดาลใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและความเป็นเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีการศึกษาและพัฒนาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแผ่นใยไหม โดยลดการปนเปื้อนจากสารคัดหลั่งของหนอนไหม การพัฒนานี้ยังช่วยเพิ่มอัตราการรอดตายของหนอนไหมและพัฒนาคุณภาพของแผ่นใยไหมได้ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นการประยุกต์วิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันและเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร. ชลธิชา รมยะสมิต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนองานวิจัยเน้น การคัดแยกและพัฒนาเชื้อโปรไบโอติก ที่มาจากอาหารหมักดองพื้นบ้านไทย เพื่อยับยั้งเชื้อดื้อยา ลดการอักเสบ ปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ และที่สำคัญ สามารถทนต่อสภาวะในระบบทางเดินอาหาร เช่น กรดในกระเพาะอาหารและเกลือน้ำดี อีกทั้งยังผ่านการทดสอบความปลอดภัย ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดภัยต่อการบริโภค นอกจากนี้ ยังพัฒนาวัสดุชีวการแพทย์ เช่น แผ่นปิดแผลไฮโดรเจลผสมโปรไบโอติก ที่ช่วยลดการติดเชื้อและส่งเสริมการสมานแผล รวมถึง อาหารฟังก์ชัน เช่น ผงกล้วยผสมโปรไบโอติก และ เครื่องดื่มโปรไบโอติก ที่เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ โดยมีการต่อยอดการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มข้าวสังข์หยดผสมโปรไบโอติก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและปรับสมดุลจุลินทรีย์ในลำไส้ โดยการพัฒนานี้จะสร้างโอกาสใหม่ทางการตลาดและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวสังข์หยด ซึ่งเป็นผลผลิตท้องถิ่นของไทยอีกด้วย
![]() |
นายอาคิฮิโระ นิคคาคุ ประธานกรรมการ บริษัท โทเรอินดัสตรีส์ อิงค์ (ประเทศญี่ปุ่น) กล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลและทุนวิจัย พร้อมย้ำถึงความมุ่งมั่นของโทเรในการสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย ผ่านกิจกรรมของมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย บริษัทโทเรยึดมั่นในแนวคิด “องค์กรเป็นสถาบันมหาชนของสังคม มีส่วนช่วยสังคมผ่านการดำเนินธุรกิจ” บริษัทได้ขยายธุรกิจในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 หรือกว่า 62 ปี และปัจจุบันมีบริษัทในเครือทั้งหมด 9 แห่ง ซึ่งถือเป็นฐานสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ครอบคลุมธุรกิจด้านเส้นใย ฟิล์ม พลาสติกวิศวกรรม และวัสดุคอมโพสิตจากคาร์บอนไฟเบอร์
ในด้านความยั่งยืน บริษัทโทเรให้ความสำคัญกับแนวคิด BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยมีการพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เส้นใยรีไซเคิล ฟิล์มรีไซเคิล และพลาสติกวิศวกรรมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) นอกจากนี้ ยังได้มีการพัฒนา น้ำตาลเซลลูโลสจากชานอ้อยและกากมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของไทย เพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบสำหรับเส้นใยและพลาสติกชีวภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน
ท้ายที่สุด ท่านได้กล่าวขอบคุณ ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี รวมถึงแขกผู้มีเกียรติ คณะกรรมการตัดสินแต่ละรางวัล และบุคคลที่เกี่ยวข้องในการจัดพิธีมอบรางวัลและเงินทุนฯ ที่ให้การสนับสนุนและทุ่มเทจนทำให้พิธีสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี พร้อมแสดงความหวังว่าผู้ได้รับรางวัลและทุนวิจัยจะมีความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการวิจัยและการศึกษา เพื่อสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้นในอนาคต
![]() |
ฯพณฯ นายมาซาโตะ โอตากะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัล และกล่าวถึงความสัมพันธ์ทางการทูตของประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยครบรอบ 138 ปี โดยมีบริษัทญี่ปุ่นมากกว่า 6,000 บริษัท ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมีประชากรชาวญี่ปุ่นอาศัยอยู่มากกว่า 60,000 คน ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีความใกล้ชิดกับประเทศไทยอย่างมาก โดยในปัจจุบัน ญี่ปุ่นและไทยมีความสัมพันธ์แบบ ‘หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน’ โดยเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคล การปฏิรูปกฎระเบียบ นวัตกรรม เศรษฐกิจ BCG และโครงสร้างพื้นฐาน
ฯพณฯ เอกอัครราชทูตยังกล่าวถึง โครงการโคเซ็นซึ่งเป็นระบบวิทยาลัยเทคโนโลยีของญี่ปุ่นที่นำมาปรับใช้ในไทย เพื่อพัฒนาทรัพยากรบุคคลมีทักษะความสามารถระดับสูง ซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศไทย
ก่อนจบคำกล่าว ท่านได้กล่าวชื่นชมมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทย ด้วยการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพสูงมาเป็นเวลานาน พร้อมทั้งแสดงความหวังว่าความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทยจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป
![]() |
ท้ายที่สุด ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี กล่าวถึงการมอบรางวัลที่ปีนี้มีผลงานวิจัยของคนไทยด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์อัตโนมัติ ซึ่งนับว่าสอดรับและก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐกิจ และระเบียบโลกใหม่ การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกด้านของโลก ทำให้ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ท่านยังกล่าวชื่นชมมูลนิธิโทเรฯ ที่ได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยตลอด 31 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ท่านยังได้แสดงความยินดีแก่ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ รวมทั้งอาจารย์ นักวิจัย และสถาบันที่ได้รับเกียรติ โดยหวังว่าความพยายามและอุตสาหะที่ทุ่มเทจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในชาติ และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ชนรุ่นหลัง สุดท้าย ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ได้อำนวยพรให้มูลนิธิโทเรฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่านมีความเจริญรุ่งเรืองและประสบความสำเร็จต่อไป ก่อนปิดงาน ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ ได้ร่วมถ่ายภาพกับผู้ได้รับรางวัล เพื่อเป็นที่ระลึก