มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 29 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ณ โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะสุรวงศ์ มูลนิธิฯ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานในพิธี ซึ่งนับเป็นเวลา 13 ปีที่ท่านได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ฯพณฯ นายคะสุยะ นะชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิฯ และ
นายอาคิฮิโระ นิคคาคุ ประธานบริษัท โทเรอินดัสตรีส์ อิงค์ (ประเทศญี่ปุ่น) เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย

 

ด้วยเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและก้าวหน้าของประเทศไทย มูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการมอบรางวัล 3 ประเภท ดังนี้

รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับบุคคลหรือสถาบันที่มีผลงานดีเด่นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในปีนี้ ผู้ได้รับรางวัลประเภทบุคคล ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. อลิศรา เรืองแสง จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่วนผู้ได้รับรางวัลในประเภทหน่วยงาน ได้แก่ ห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีเซนเซอร์-มจธ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 2 รางวัล รวมมูลค่า 8 แสนบาท

 

เงินทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนักวิจัยที่กำลังค้นคว้า หรือมีโครงการค้นคว้าวิจัยที่เป็นรากฐานอันจะอำนวยประโยชน์ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย ในปีนี้ได้มอบทุนวิจัยจำนวน 20 ทุนวิจัย มูลค่า 4 ล้านบาท แบ่งเป็น สาขาเกษตรศาสตร์ 7 โครงการ สาขาเคมี 8 โครงการ สาขาฟิสิกส์ 2 โครงการ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 3 โครงการ

 

รางวัลการศึกษาวิทยาศาสตร์ เป็นการมอบรางวัลให้กับครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาที่มีผลงานดีเด่นและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ ในปีนี้ได้มอบรางวัลจำนวน 7 รางวัล มูลค่า 470,000 บาท แบ่งเป็นเงินรางวัลสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 210,000 บาท และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 260,000 บาท

 

ในปีนี้ มูลนิธิฯ ได้มอบรางวัลและทุนฯ รวมเป็นจำนวน 5.42 ล้านบาท ในช่วง 29 ปีของการดำเนินงาน มูลนิธิฯ มอบรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแล้ว 59 ราย ทุนช่วยเหลือการวิจัย 528 โครงการ และมอบรางวัลให้ครูวิทยาศาสตร์ไปแล้ว 250 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 151 ล้านบาท

ตัวแทนผู้รับรางวัล ศาสตราจารย์ ดร. อลิศรา เรืองแสงกล่าวแสดงความขอบคุณมูลนิธิโทเรฯ ที่ให้ความสำคัญกับบุคลากร
การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 29 ปี “รางวัลและทุนโทเร” เป็นรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยที่วงการนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทราบกันเป็นอย่างดีว่าได้ผ่านการคัดกรองและคัดสรรมาอย่างดีเยี่ยม ผู้ที่ได้รับรางวัลหรือผู้ที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยจากมูลนิธิโทเรสามารถเชื่อมั่นได้ว่าคุณสมบัติ ผลงาน และโครงการที่ได้รับรางวัลหรือเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยจะต้องมีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ ควรค่าต่อความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก รางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยนี้นอกจากจะทำให้นักวิจัยมีขวัญและกำลังใจ มีแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพแล้ว ยังได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างครอบคลุมตั้งแต่นักวิจัยที่เป็นครู อาจารย์ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน และอาจารย์/นักวิจัยในระดับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยอีกด้วย

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุพฤทธิ์ ตั้งพฤทธิ์กุล ภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม สาขาวิชาวิศวกรรมทรัพยากรธรณีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นตัวแทนผู้ได้รับทุนวิจัย นำเสนอสรุปผลงานผ่านวิดีทัศน์ ในโครงการการดักจับและการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS – Carbon Capture and Storage) โดยเน้นในส่วนการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในโครงสร้างทางธรณีวิทยา งานวิจัยในปัจจุบันเน้นในการทำความเข้าใจกลไกการกักเก็บ การออกแบบให้การกักเก็บมีความถาวรและปลอดภัย และการวิจัยเพิ่มเติมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บ งานวิจัยที่ทำมีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 13. Climate Change โดย CCS เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการรับมือและแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลงานวิจัยที่ได้จะมีส่วนอย่างมากที่จะไปส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมย์ไว้อย่างชัดเจนในงาน Cop26 ในปี 2021 ว่าประเทศไทยพร้อมที่จะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการบรรลุการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065

ในส่วนของรางวัลการศึกษาวิทยาศาตร์ ตัวแทนของคุณครู น.ส. ภัศรา วิเชียรพงษ์ โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” (ฉะเชิงเทรา) เป็นตัวแทนนำเสนอผลงานที่ได้รับรางวัลผ่านวิดีทัศน์ ในโครงการ “การพัฒนาเครื่องดักหอยเจดีย์ในฟาร์มเลี้ยงกุ้ง” โดยได้แรงบันดาลใจจากครูและนักเรียนร่วมกันศึกษาระบบนิเวศน์ในท้องถิ่น จึงทราบถึงปัญหาเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ที่มีการใช้สารเคมีในการกำจัดหอยเจดีย์และปล่อยสารเคมีลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในระยะยาว ครูและนักเรียนอยากมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา จึงวางแผนและพัฒนาเครื่องดักหอยเจดีย์ โดยนำกระบวนการทางวิทยาศาตร์มาประยุกต์ใช้ เริ่มจากการวางแผนการทำงาน ค้นคว้าหาข้อมูล ออกแบบ ทดลอง คิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล รวมถึงได้ประสบการณ์จากการได้ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อพัฒนาเครื่องดักจับหอยเจดีย์ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งดักจับหอยเจดีย์ได้จำนวนมากขึ้น และพัฒนาอุปกรณ์ให้ง่ายต่อการใช้งาน และเมื่ออุปกรณ์มีประสิทธิภาพเพียงพอ จะนำไปเผยแพร่ให้เกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ในการใช้งานและการพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนต่อไป คุณครูและนักเรียนรู้สึกเป็นเกียรติและดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับรางวัล ซึ่งจะได้นำไปต่อยอดโครงการการศึกษาวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน สร้างเครือข่ายการศึกษาวิทยาศาสตร์ ทั้งต่อยอดนวัตกรรมเดิมและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ปลูกฝังให้ผู้เรียนตระหนักถึงการศึกษาด้วยวิทยาศาสตร์และนำวิทยาศาสตร์มาใช้ในการแก้ปัญหา

 

นายอาคิฮิโระ นิคคาคุ ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล และกล่าวถึงแนวคิดการบริหารงานของกลุ่มโทเรในการมีส่วนช่วยสังคมผ่านการดำเนินธุรกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายคือการทุ่มเทในการพัฒนาประเทศนั้นๆ และการดำรงอยู่ในฐานะขององค์กรที่ได้รับความนับถือจากสังคมอยู่เสมอ โทเรได้จัดตั้งมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2503 เพื่อเป็นการส่งเสริมวิทยาศาสตร์พื้นฐานในแต่ละประเทศและภูมิภาค ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2537 ได้จัดตั้งมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย อีกทั้งยังเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทฯ

กลุ่มบริษัทโทเรได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 โดยบริษัทในกลุ่มทั้ง 9 บริษัทได้ขยายธุรกิจในหลายสาขาในฐานะฐานสำคัญในภูมิภาคอาเซียน อาทิ เส้นใย พลาสติกวิศวกรรม ฟิล์ม วัสดุประกอบเส้นใยคาร์บอน โดยมีเพื่อนร่วมงานชาวไทยกว่า 4,000 คน ท่านประธานแสดงความขอบคุณการสนับสนุนจากชาวไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ธุรกิจและวัสดุของโทเรจะประสานเข้ากับการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิฯ ในการสร้างประโยชน์ให้กับการพัฒนาประเทศไทยขึ้นไปอีกระดับ

รัฐบาลไทยได้ประกาศ “นโยบาย BCG” ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมและปกป้องสิ่งแวดล้อม และ “แผนพลังงานชาติ” ที่ส่งเสริมการดำเนินการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างจริงจังและส่งเสริมการขยายการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น กลุ่มบริษัทโทเรก็มีความประสงค์ที่จะขยายธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีในกลุ่มที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึง “ธุรกิจนวัตกรรมสีเขียว” ที่เป็นการดำเนินการกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และ “นวัตกรรมเพื่อชีวิต” ที่มุ่งการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายและมีสุขภาพที่ดี

เมื่อจำแนกประเภทโครงการที่ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเงินทุนช่วยเหลือทางด้านการวิจัยในวันนี้ตามมุมมองดังกล่าวแล้ว มีโครงการวิจัยทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ 7 โครงการ เทคโนโลยีวัสดุ 8 โครงการ เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรม 6 โครงการ และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 1 โครงการ ซึ่งทุกโครงการล้วนแต่เป็นการดำเนินการวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย ท่านหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการวิจัยดังกล่าวจะหลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยีก้าวล้ำของโทเรแล้วนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยขึ้นไปอีกระดับ

ฯพณฯ นายคะสุยะ นะชิดะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึงการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างญี่ปุ่นและไทยซึ่งครบรอบ 135 ปีเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งประเทศไทยกลายเป็นฐานสำคัญในการดำเนินกิจกรรมในต่างประเทศของบริษัทญี่ปุ่นไปแล้ว ชุมชนชาวญี่ปุ่นในประเทศไทยยังมีจำนวนมากเป็นลำดับต้นๆ ในโลก กิจกรรมของมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ถือเป็นการสร้างประโยชน์อย่างยิ่งใหญ่ต่อการแก้ไขปัญหาใหญ่ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่อย่างแท้จริง คีย์เวิร์ดความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทยนับจากนี้ไป ก็คือคำว่า “การร่วมคิดสร้าง (Co-creation)” ประเทศไทยดำเนินการส่งเสริม “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” ในฐานะยุทธศาสตร์ชาติ และประเทศญี่ปุ่นใช้นโยบาย “ยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียว” เพื่อร่วมกันทำให้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ได้ยกระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างญี่ปุ่นและไทย อีกทั้งยังได้ออกนโยบายความร่วมมือสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG สุดท้าย ท่านได้อำนวยพรให้ผู้รับรางวัลประสบแต่ความสำเร็จ ขอให้มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยประสบแต่ความเจริญ และขอให้ความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่นและไทยพัฒนายิ่งขึ้นไป

 

ท้ายที่สุด ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้กล่าวถึงความสำคัญในการพัฒนาความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อันเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนในชาติ อีกทั้งยังเป็นข้อต่อสำคัญในการนำประเทศก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต และยินดีที่มูลนิธิฯ ได้มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างความรู้ความสามารถ และความตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศไทยโดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และสุดท้ายท่านได้แสดงความยินดีและส่งความปรารถนาดีและความภาคภูมิใจไปยังผู้ที่ได้รับรางวัลและทุนที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ก่อนปิดงาน ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ ได้ร่วมถ่ายภาพกับ
ผู้ได้รับรางวัล เพื่อเป็นที่ระลึก