มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 30 เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2567 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก มูลนิธิฯ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานในพิธี ซึ่งนับเป็นเวลา 14 ปีที่ท่านได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิฯ และนายอาคิฮิโระ นิคคาคุ ประธานกรรมการ บริษัท โทเรอินดัสตรีส์ อิงค์ (ประเทศญี่ปุ่น) เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย

 

ด้วยเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและก้าวหน้าของประเทศไทย มูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการมอบรางวัล 3 ประเภท ดังนี้

รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับบุคคลหรือสถาบันที่มีผลงานดีเด่นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในปีนี้ ผู้ได้รับรางวัลประเภทบุคคล ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. สุขสันติ์ หอพิบูลสุข จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่วนผู้ได้รับรางวัลในประเภทหน่วยงาน ได้แก่ ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางการฉีดขึ้นรูปโลหะผง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ 2 รางวัล รวมมูลค่า 8 แสนบาท

เงินทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนักวิจัยที่กำลังค้นคว้า หรือมีโครงการค้นคว้าวิจัยที่เป็นรากฐานอันจะอำนวยประโยชน์ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย ในปีนี้ได้มอบทุนวิจัยจำนวน 20 ทุนวิจัย มูลค่า 4 ล้านบาท แบ่งเป็น สาขาเกษตรศาสตร์ 7 โครงการ สาขาเคมี 6 โครงการ สาขาฟิสิกส์ 2 โครงการ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 5 โครงการ

รางวัลการศึกษาวิทยาศาสตร์ เป็นการมอบรางวัลให้กับครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาที่มีผลงานดีเด่นและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ ในปีนี้ได้มอบรางวัลจำนวน 8 รางวัล มูลค่า 525,000 บาท แบ่งเป็นเงินรางวัลสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 200,000 บาท และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 325,000 บาท และเงินสนับสนุนห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ให้กับแต่ละโรงเรียนรวม 200,000 บาท  

ในปีนี้ มูลนิธิฯ ได้มอบรางวัลและทุนฯ รวมเป็นจำนวน 5.525 ล้านบาท ในช่วง 30 ปีของการดำเนินงาน มูลนิธิฯ มอบรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแล้ว 61 ราย ทุนช่วยเหลือการวิจัย 548 โครงการ และมอบรางวัลให้ครูวิทยาศาสตร์ไปแล้ว 258 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 156 ล้านบาท

 

ตัวแทนผู้รับรางวัล ศาสตราจารย์ ดร. สุขสันติ์ หอพิบูลสุข กล่าวแสดงความขอบคุณมูลนิธิโทเรฯ ที่ให้ความสำคัญกับบุคลากรการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 30 ปี “รางวัลและทุนโทเร” เป็นรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยที่วงการนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทราบกันเป็นอย่างดีว่าได้ผ่านการคัดกรองและคัดสรรมาอย่างดีเยี่ยม ผู้ที่ได้รับรางวัลหรือผู้ที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยจากมูลนิธิโทเรสามารถเชื่อมั่นได้ว่าคุณสมบัติและผลงาน จะต้องมีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ ควรค่าต่อความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง รางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยนี้นอกจากจะทำให้นักวิจัยมีขวัญและกำลังใจ มีแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพแล้ว ยังได้สร้างบุคลากรที่มีคุณภาพในวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างครอบคลุมตั้งแต่นักวิจัยที่เป็นครู-อาจารย์ผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน และอาจารย์/นักวิจัยในระดับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยอีกด้วย

 

รองศาสตราจารย์ ดร. อรวรรณ สุวรรณทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมีประยุกต์ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นำเสนอสรุปผลงานผ่านวิดีทัศน์ ในโครงการศึกษาและพัฒนาวัสดุปิดแผลไฮโดรเจลซ่อมแซมตัวเองแบบฉีดจากไคโตซานดัดแปรที่มีสารสกัดสมุนไพร เพื่อใช้ในการรักษาบาดแผล โดยไฮโดรเจลที่ได้จากงานวิจัยนี้สามารถเติมเต็มช่องว่างของบาดแผล เก็บความชุ่มชื้นของบาดแผล อีกทั้งยังมีความนิ่มและยืดหยุ่นคล้ายกับเนื้อเยื่อผิวหนัง จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้เป็นวัสดุปิดแผล และจากคุณสมบัติซ่อมแซมตัวเองได้ของไฮโดรเจลทำให้สามารถคืนสู่สภาพเดิมได้ อีกทั้งสามารถฉีดไฮโดรเจลเพิ่มเติมได้หากบาดแผลยังเกิดการซ่อมแซมที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจะช่วยลดการบาดเจ็บจากการเปลี่ยนวัสดุปิดแผล และสะดวกต่อการรักษา นอกจากนี้การใส่สารสกัดสมุนไพร ยังช่วยเพิ่มฤทธิ์ทางชีวภาพของไฮโดรเจล เช่น ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรีย ต้านการอักเสบ และช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวหนังทำให้บาดแผลหายเร็วยิ่งขึ้น ผลงานวิจัยนี้
สามารถนําไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพวัสดุปิดแผล ช่วยยกระดับงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม ลดการนําเข้าวัสดุปิดแผลจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาของผู้ป่วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปิโยรส พรหมดิเรก ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ นำเสนอสรุปผลงานผ่านวิดีทัศน์ ในโครงการวิจัยงานด้านการออกแบบชิ้นส่วนโลหะที่เกี่ยวข้องกับระบบการขนส่งทางราง โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านกระบวนการผลิตโลหะ โลหวิทยา การวิเคราะห์ความเสียหายของวัสดุมาประยุกต์ใช้ ระบบขนส่งทางรางในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อเทคโนโลยีมาใช้ การเตรียมองค์ความรู้สำหรับเทคโนโลยีระบบรางโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางด้านวัสดุ เพื่อใช้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่สำหรับรถไฟในอนาคตจึงมีความจำเป็นอย่างมาก การพัฒนาล้อรถไฟในประเทศจะนำไปสู่การลดการนำเข้าชิ้นส่วนล้อรถไฟได้ต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ งานวิจัยนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกและสร้างนักวิจัยที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอกให้มีองค์ความรู้และเป็นกำลังคนที่จะต่อยอดงานวิจัยนี้ต่อไปได้ในอนาคต

ในส่วนของรางวัลการศึกษาวิทยาศาตร์ ตัวแทนของคุณครู นางสุกัลยา วงค์ใหญ่ ครูจากโรงเรียนพนมสารคาม
“พนมอดุลวิทยา” จังหวัดฉะเชิงเทรา นำเสนอผลงาน “กับดักแมลงสิง” ซึ่งได้แรงบันดาลใจจากการทำกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์ ในขั้นตอนการสำรวจสภาพปัญหาในนาข้าว พบแมลงสิงทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำนมข้าว ส่งผลให้เมล็ดข้าวแตกหักหลังการสี เกษตรกรนิยมใช้สารเคมีในการควบคุมและกำจัดแมลง ทำให้มีสารเคมีตกค้างอยู่ในผลผลิต และปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาพฤติกรรมตามธรรมชาติของแมลงสิง จึงมีแนวคิดในการแก้ปัญหาโดยใช้เหยื่อพิษดักล่อร่วมกับการพัฒนานวัตกรรมบรรจุเหยื่อพิษเลียนแบบดอกบัวผุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และระยะเวลาในการล่อดักจับเพื่อกำจัดแมลงสิง นักเรียนเข้าร่วมวิจัยครั้งนี้ได้พัฒนาศักยภาพตนเอง ได้ฝึกการคิดแกัปัญหาอย่างเป็นระบบ มีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทักษะการใช้ภาษาทั้งในการจัดทำรูปเล่มรายงานและการนำเสนอ นอกจากนี้นักเรียนยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาในท้องถิ่น โดยมีส่วนร่วมในการเผยแพร่วิธีการดักจับแมลงสิงให้กับเกษตรกร และรณรงค์ลดการใช้สารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

นายอาคิฮิโระ นิคคาคุ ร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล และกล่าวถึงแนวคิดการบริหารงานของกลุ่มโทเรในการมีส่วนช่วยสังคมผ่านการดำเนินธุรกิจ โดยมีจุดมุ่งหมายคือการทุ่มเทในการพัฒนาประเทศนั้นๆ และการดำรงอยู่ในฐานะขององค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคม โทเรได้จัดตั้งมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2503 เพื่อเป็นการส่งเสริมวิทยาศาสตร์พื้นฐานในแต่ละประเทศและภูมิภาค ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2537 ได้จัดตั้งมูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย การพัฒนาทรัพยากรบุคคล อีกทั้งยังเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทฯ

กลุ่มบริษัทโทเรได้เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 โดยบริษัทในกลุ่มทั้ง 9 บริษัทได้ขยายธุรกิจในหลายสาขาในฐานะฐานสำคัญในภูมิภาคอาเซียน อาทิ เส้นใย พลาสติกวิศวกรรม ฟิล์ม วัสดุประกอบเส้นใยคาร์บอน โดยมีเพื่อนร่วมงานชาวไทยกว่า 4,000 คน ท่านประธานแสดงความขอบคุณการสนับสนุนจากชาวไทย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ธุรกิจและวัสดุของโทเรจะประสานเข้ากับการดำเนินกิจกรรมของมูลนิธิฯ ในการสร้างประโยชน์ให้กับการพัฒนาประเทศไทยขึ้นไปอีกระดับ

ประเทศไทยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์โลกได้อย่างรวดเร็ว โดยได้ส่งเสริม “นโยบาย BCG” ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมและปกป้องสิ่งแวดล้อม และ “แผนพลังงานชาติ” ที่ส่งเสริมการดำเนินการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างจริงจังและส่งเสริมการขยายการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น กลุ่มบริษัทโทเรเองก็ได้กำหนดให้ “ธุรกิจนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน” เป็นกลุ่มธุรกิจแห่งการเติบโต และกำลังส่งเสริมการพัฒนาวัสดุขั้นสูงอย่างเต็มที่เพื่อมีส่วนในการสร้างความเป็นการกลางทางคาร์บอนและการสร้างสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยกลุ่มบริษัทไทยโทเรในประเทศไทยมีการผลิตเส้นใยรีไซเคิลและฟิล์มรีไซเคิล อีกทั้งได้ขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกวิศวกรรมสำหรับรถยนต์ xEV และวัสดุน้ำหนักเบาจากคาร์บอนไฟเบอร์แบบประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เริ่มต้นธุรกิจสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า อาทิ น้ำตาลเซลลูโลสจากวัตถุดิบที่บริโภคไม่ได้อย่าง “ชานอ้อย” และ “กากมันสำปะหลัง” ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรหลักของประเทศไทย โดยในอนาคตน้ำตาลเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนเป็นวัตถุดิบสำหรับผลิตเส้นใยและพลาสติกด้วยเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงยิ่งขึ้นเพื่อสร้างสังคมแห่งการรีไซเคิล

เมื่อจำแนกประเภทโครงการที่ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเงินทุนช่วยเหลือทางด้านการวิจัยในวันนี้ตามมุมมองดังกล่าวแล้ว มีโครงการวิจัยทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ 9 โครงการ เทคโนโลยีวัสดุ 9 โครงการ เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรม 3 โครงการ และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 1 โครงการ ซึ่งทุกโครงการล้วนแต่เป็นการดำเนินการวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย ท่านหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการวิจัยดังกล่าวจะหลอมรวมเข้ากับเทคโนโลยีก้าวล้ำของโทเรแล้วนำไปสู่การพัฒนาประเทศไทยขึ้นไปอีกระดับ

 

ท้ายที่สุด ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี กล่าวถึงโลกของเรามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแทบทุกด้าน ทุกประเทศจึงจำเป็นต้องต้องปรับตัวตาม เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ ความอุตสาหะ และความพยายามในการวิจัยค้นคว้า อันเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต และนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต ท่านจึงมีความยินดีที่มูลนิธิโทเร เพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้มีส่วนสำคัญในการช่วยเสริมสร้างความรู้ความสามารถ และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการช่วยพัฒนาประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

และสุดท้ายท่านได้แสดงความยินดีกับอาจารย์ นักวิจัย และสถาบัน ที่ได้รับเกียรติยกย่องเชิดชูเกียรติและหวังว่าความพยายามอุตสาหะที่ได้ทุ่มเทมาอย่างยาวนาน จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในชาติ และยังเป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนรุ่นหลังของเราสืบไป ก่อนปิดงาน ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ ได้ร่วมถ่ายภาพกับผู้ได้รับรางวัล เพื่อเป็นที่ระลึก