มูลนิธิโทเรเพื่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ ประเทศไทย ได้จัดพิธีมอบรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 ณ โรงแรม แบงค็อกแมริออท เดอะสุรวงศ์ ในปีนี้การจัดงานยังคงอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 อย่างเคร่งครัด

เช่นเดียวกับทุกปี มูลนิธิฯ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานในพิธี ซึ่งนับเป็นเวลา 12 ปีที่ท่านได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ฯพณฯ นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย และศาสตราจารย์ ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิฯ เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย

เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด นายอะคิฮิโระ นิคคาคุ ประธานกรรมการบริษัท โทเรอินดัสตรีส์ อิงค์ ประเทศญี่ปุ่น ไม่สามารถมาเข้าร่วมงานได้ จึงได้ส่งสารเป็นวีดิทัศน์มาร่วมแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัล และยังได้กล่าวถึงการดำเนินธุรกิจของ
กลุ่มโทเรตลอดระยะเวลา 59 ปีในประเทศไทย กลุ่มโทเรได้ขยายสาขาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงธุรกิจที่มุ่งรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อนที่นำมาซึ่งภัยพิบัติทางธรรมชาติอันร้ายแรง ทำให้ทั่วโลกกำลังเร่งสร้างสังคมที่ยั่งยืน ประเทศไทยเองก็ได้ประกาศ “นโยบาย BCG” (Bio-Circular-Green) ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมและปกป้องสิ่งแวดล้อม และ “แผนพลังงานชาติ” ที่ส่งเสริมการดำเนินการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างจริงจังและส่งเสริมการขยายการผลิตรถยนต์ EV (รถยนต์ไฟฟ้า) ให้มากยิ่งขึ้น กลุ่มบริษัทโทเรเองก็มีความประสงค์ที่จะขยายธุรกิจและพัฒนาเทคโนโลยีในกลุ่มที่กำลังเติบโต รวมถึง “ธุรกิจนวัตกรรมสีเขียว” และ “นวัตกรรมเพื่อชีวิต” เพื่อคว้าโอกาสในการมีส่วนในการทำเพื่อสังคม อาทิ การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนร่วมกับชาวไทย เมื่อจำแนกประเภทโครงการที่ได้รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและเงินทุนช่วยเหลือทางด้านการวิจัยในวันนี้ตามมุมมองดังกล่าวแล้ว มีโครงการวิจัยทางด้านการแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ 8 โครงการ เทคโนโลยีวัสดุ 8 โครงการ เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมและวิศวกรรม 4 โครงการ  และวิทยาศาสตร์พื้นฐาน 2 โครงการ ซึ่งทุกโครงการล้วนแต่เป็นการดำเนินการวิจัยและพัฒนาที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทย

ด้วยเจตนารมณ์ของมูลนิธิฯ ในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและก้าวหน้าของประเทศไทย มูลนิธิฯ ได้จัดให้มีการมอบรางวัล 3 ประเภท ดังนี้

รางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับบุคคลหรือสถาบันที่มีผลงานดีเด่นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยในปีนี้ ผู้ได้รับรางวัลประเภทบุคคล ได้แก่ ศ.ดร. สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนผู้ได้รับรางวัลในประเภทหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางเคมีไฟฟ้าและแสง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 รางวัล รวมมูลค่า 8 แสนบาท

ทุนช่วยเหลือทางด้านวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนนักวิจัยที่กำลังค้นคว้า หรือมีโครงการค้นคว้าวิจัยที่เป็นรากฐานอันจะอำนวยประโยชน์ให้แก่วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย ในปีนี้ได้มอบทุนวิจัยจำนวน 20 ทุนวิจัย มูลค่า 4 ล้านบาท แบ่งเป็น สาขาเกษตรศาสตร์ 7 โครงการ สาขาเคมี 7 โครงการ สาขาฟิสิกส์ 2 โครงการ และสาขาวิศวกรรมศาสตร์ 4 โครงการ

รางวัลการศึกษาวิทยาศาสตร์ เป็นการมอบรางวัลให้กับครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาที่มีผลงานดีเด่นและความคิดสร้างสรรค์ทางด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์ ในปีนี้ได้มอบรางวัลจำนวน 9 รางวัล มูลค่า 650,000 บาท แบ่งเป็นเงินรางวัลสำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 285,000 บาท และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 365,000 บาท

ในปีนี้ มูลนิธิฯ ได้มอบรางวัลและทุนฯ รวมเป็นจำนวน 5.45 ล้านบาท ในช่วง 28 ปีของการดำเนินงาน มูลนิธิฯ มอบรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปแล้ว 57 ราย ทุนช่วยเหลือการวิจัย 508 โครงการ และมอบรางวัลให้ครูวิทยาศาสตร์ไปแล้ว 243 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 145 ล้านบาท

ผู้แทนผู้รับรางวัล ศาสตราจารย์ ดร. สุจินดา มาลัยวิจิตรนนท์ กล่าวขอบคุณมูลนิธิฯ ที่ให้ความสำคัญกับบุคลากรการวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 28 ปี ซึ่งรางวัลและทุนวิจัยดังกล่าว นอกจากจะเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ที่ทำวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจที่จะทำให้บุคลากรการวิจัยมีพลังที่จะทุ่มเทในการทำงานต่อไป รางวัลและทุนวิจัยนี้ ยังเป็นฟันเฟืองที่สำคัญอีกอันหนึ่งของประเทศในการสร้างบุคลากรการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ คือ นักเรียนในโรงเรียน จนถึงนักวิจัยในมหาวิทยาลัย และสถาบันการวิจัยต่าง ๆ ซึ่งในขณะนี้บุคลากรการวิจัยที่ได้รับรางวัลและเงินทุนช่วยเหลือการวิจัยจากมูลนิธิโทเรฯ ได้กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย อีกทั้ง การวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เราสามารถต่อสู้และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก ดังจะเห็นได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีการสนับสนุนการวิจัยอย่างเข้มแข็งและใช้งานวิจัยเป็นฐานในการพัฒนาประเทศ ตัวอย่างหนึ่งของบทบาทของงานวิจัยที่ใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ คือ การใช้ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการผลิตยา วัคซีน และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อต่อสู้กับอุบัติการณ์การเกิดและการระบาดของโรคโควิด 19 สมดังคำกล่าวของมูลนิธิโทเรฯ ที่ว่า “การวิจัยคือกุญแจสู่ความสำเร็จ”

ท้ายที่สุด ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี ได้กล่าวชื่นชมกิจกรรมของมูลนิธิฯ ที่มีส่วนช่วยในการสนับสนุนและส่งเสริมความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย และกล่าวอำนวยพรให้มูลนิธิโทเรฯ และผู้ที่มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิ คณะกรรมการของมูลนิธิ และผู้รับรางวัลและเงินทุน มีความรุ่งเรืองและประสบแต่ความสุขความเจริญทั่วกัน ก่อนปิดงาน ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ ได้ร่วมถ่ายภาพกับผู้ได้รับรางวัล เพื่อเป็นที่ระลึก